
เรากำลังอยู่ในโลกที่ทุกคนและทุกสิ่งเชื่อมต่อถึงกัน
องค์กรต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับทัศนคติและวิถีที่เปลี่ยนแปลงไปของพนักงาน ?
โลกในบริบทใหม่ ส่งผลอะไรต่อ HR ?
และ เราจะอยู่กับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
Tas Chantree
TAS Consulting Partner
หนึ่งในนักคิดและนักปฏิบัติ ผู้รอบรู้ทั้งงานการบริหารคน บริหารองค์กร ซึ่งสามารถเชื่อมโยงให้เข้าการดำเนินธุรกิจ ทั้งยังเป็นผู้ซึ่งติดตตาม เปิดรับ ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอยุ่เสมอ
มาฉายภาพบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และ ชวนคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดกับการทำงานของ HR เพื่อให้คิดต่อถึงการปรับแนวคิด แนวทางการทำงานให้สามารถทำหน้าที่เป็น enabler ที่สำคัญให้กับองค์กรในการรับมือ อยู่รอดและเติบโตในโลกใหม่ที่เรากำลังเผชิญ
ผ่านหนึ่งชั่วโมงของการเล่าเรื่องในหัวข้อ HR in augmented and connected world
ในงาน HR Tech Talk Special เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา
ไม่มีใครแก่เกินจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้
ทัส เริ่มบทสนทนาโดยสะท้อนให้ผู้ฟังรู้จักเขาในฐานะ ผู้เริ่มทำสตาร์ทอัพที่มีอายุ 56 ปี โดยต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ในโลกยุคดิจิทัลนั้นท้าทายความเชื่อทุกอย่าง เช่น อายุที่คนมักมองว่าเป็นอุปสรรคของการเปิดรับเทคโนโลยี แต่ทัสก็แสดงให้เห็นว่า เขาสามารถเริ่มทำสตาร์ทอัพในธุรกิจคอนซัลท์ติ้งได้ แม้ว่าคนรุ่นเดียวหรืออ่อนกว่าเขาหลายคนเริ่มคิดถึงการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุ
โลกที่สรรสิ่งเป็นหนึ่งเดียว
ทัส เล่าว่า เรากำลังเข้าสู่โลกแห่ง web. 3.0 โดย
Web 1.0 คือเวปซึ่งตอบสนองทางดียว สำหรับการอ่านข้อมูล เพราะ ในยุคนั้น งานหลังบ้านของระบบเทคโนโลยี มีวิธีการที่สลับซับซ้อน ผู้ใช้งานทั่วไปไม่สามารถเป็นคนแชร์ข้อมูลเองได้
ขณะที่ web 2.0 คือเข้ามาทำให้คนตอบโต้ แสดงความคิดเห็น และแชร์ข้อมูลเองได้ อันเป็นที่มาของ โซเชี่ยลเนตเวิร์ค และเป็นจุดกำเนิดของระบบเศรษฐกิจแบบแพลทฟอร์ม เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเน็ตเวิร์กใหญ่ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกว้างใหญ่ เพื่อแชร์ข้อมูล เขียนเรื่องราว แสดงความเห็น ได้งายๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นและแพลทฟอร์มต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านเทคนิค
ส่วน web 3.0 นั้นเป็นยุคที่เราจะได้เห็นและใช้ประโยชน์ระบบอัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น เพราะการติดต่อแลกเปลี่ยนไม่ได้จำกัดเฉพาะ คนกับคน ผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่เป็นการเปิดให้ ทุกสิ่งทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ติดต่อพูดคุยกันเองได้ นั่นคือที่มาของคำว่า internet of thing ในวันนี้เรามีประชากร 8 พันล้านคน แต่มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสูงถึง1 หมื่นล้านสิ่ง และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ Web 3.0 จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นหลายอย่าง สิ่งที่เราเห็นว่าเริ่มมีการทดลองใช้ในช่วง web 2.0 จะกลายมาเป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวัน เช่น Metaverse , Blockchain เป็นต้น ที่สำคัญ คนจะได้รับทราบถึงประสบการใหม่ที่ออกแบบเฉพาะตัว เพราะ ข้อมูลมากมายมหาศาลจะถูกรวบรวมและวิเคราะห์โดย machine learning เพื่อนำไปสร้างสินค้าและบริการใหม่ ทำให้เรารู้สึกว่า ทำไมโลกทุกอย่างรู้ไปหมดว่าเราคิดอะไรและอยากได้อะไร
ความเชื่อมโยงแบบไร้ขีดจำกัดที่กล่าวมา จึงกลายเป็นแนวคิดหลักของงาน Thailand HR Tech 2023 “ที่ว่า Everything, Everywhere Augmented ซึ่งเราได้เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนชีวิตให้เข้ากับ ความปกติใหม่ (New Normal) ทั่วทั้งโลก
โลกใหม่สร้างความท้าทายในหลากหลายมิติ
เพื่อให้พวกเราได้เห็นภาพโลกใหม่ว่าไม่ใช่สิ่งที่เป็นแนวคิด ไกลตัว หรือเป็นทฤษฏีที่รอการพิสูจน์ ทัสเลือกจะนำเหตุการณ์ที่เกิดจริงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามาเล่าให้เราฟัง
เรื่องแรก เป็นเรื่องของเด็กระดับสติปัญญาสูง อย่าง “แซม แบงแมน-ฟรายด์” (Samuel Benjamin Bankman-Fried) ซึ่งจบฟิสิกส์จาก MIT คุณพ่อคุณแม่เป็นอาจารย์สอนกฏหมายที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด แซมใช้เวลาช่วง2-3 ปีแรกของการทำงาน หาประสบการณ์ในบริษัทซื้อขายหลักทรัพย์ จนเห็นช่องว่างของการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และใช้ความรู้ตลอดจนประสบการณ์ที่มีเข้าไปทำธุรกิจ ในเรื่องใหม่ที่คนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมากนัก ทำให้สามารถสร้างธุรกิจที่มีรายได้มหาศาลกว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ภายใน 3-4 ปี ไม่มีใครทราบมีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้ภาพความสำเร็จอันสวยหรู วันหนึ่งโลกก็ได้ทราบว่าการบริหารธุรกิจของแซมคือหายนะ เพราะไม่ใช่เพราะไม่มีความรู้ด้านการบริหาร แต่ยังไม่มีทั้งความรับผิดชอบและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจส่งผลให้ ทรัพย์จำนวนมหาศาลที่หามาได้ หมดสิ้นไปในพริบตา ซ้ำยังมีคดีฟ้องร้องติดตามมาอีกหลายเรื่อง ความเสียหายไม่ได้เกิดเฉพาะกับตัวแซม แต่มีคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีคือดาบสองคม ในขณะที่เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการสร้างวิทยาการใหม่ๆ แต่ก็จะทำให้ผู้ที่คิดฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์จากความรู้ไม่เท่าทันของผู้อื่นเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองโดยไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบ ในทุกวันนี้ เราจะเห็นได้จาก การแพร่กระจายของการพนันออนไลน์ มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ หรือแม้แต่การตกเป็นลูกหนี้นอกระบบของคนจำนวนมากที่ต้องการรวยลัดจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยที่ตนเองยังไม่มีความรู้พอที่จะตัดสินใจ
เรื่องที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อสองเดือนที่ผ่านมานี้ ที่ซิลิคอนวัลเลย์ กับ SVB Bank ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือเป็นแหล่งปล่อยเงินทุนที่สำคัญให้กับสตาร์ทอัพ แม้ว่าการบริหาร SVB Bank มีประเด็นให้พูดถึงหลายเรื่อง เช่น บอร์ดบริหารส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารจากสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ แต่อาจขาดประสบการการณ์ทางการเงิน แต่การบริหารที่ผ่านมาก็ยัง ไม่พบเรื่องที่ไม่ถูกต้องซึ่งผลเสียรุนแรง เพียงแต่มีนโยบายในการนำเงินฝากไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล และในช่วงที่การเงินของสหรัฐอเมิรกามีความผันผวนสูง นโยบายดังกล่าวทำให้ผู้ฝากเงินมีความกังวล ซึ่งขยายวงไปเร็วมากผ่านแรงกระเพื่อมของโซเชี่ยลเนิตเวิร์ค จนสถาบันการเงินแห่งนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง
เรื่องนี้สะท้อนพลังของเครือข่ายทางสังคมได้อย่างชัดเจนว่ารุนแรงและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เวลาที่รวดเร็ว สื่อต่างประเทศระบุว่า SVB Bank จะเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ล้มเพราะแรงกระพือจากทวิตเตอร์ แต่จะไม่ใช่รายเดียวแน่
เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับ soft power ซึ่งมีการพูดถึงมากในประเทศไทย ว่าเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สามารถเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจได้ ดังที่เกาหลีทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว และหนึ่งใน soft power ที่พูดถึงในยุคนี้ก็คือ รสนิยมการแสดงออกของชายที่มีต่อผู้ชายด้วยกัน หรือที่เราเรียกว่า สาววาย (boy’s love) อันมีต้นกำเนิดจากการ์ตูนญี่ปุ่นซึ่งรู้จักกันในชื่อ Yaoi (ยา-โอย) แต่ประเทศไทยทำให้ตัวละครแนววาย มีตัวตนจริง จับต้องได้ จนมีการผลิตคอนเทน์แนวนี้ออกมาจำนวนมาก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่าหนึ่งพันล้านในปัจจุบัน
แม้ว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีข้อสรุป แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตุอย่างกว้างขวางว่า แฟนคลับของสาววายไม่ใช่ LBGTQ แต่เป็นผู้หญิงโดยทั่วไป ซึ่งทัสเชื่อมโยงปรากฏการณ์ดังกล่าวเข้ากับ การเติบโตและขยายตัวของกลุ่มเจเนอเรชั่นใหม่ (Gen Z) ที่เริ่มเป็นผู้บริโภคกลุ่มสำคัญในสังคม โดยอัตลักษณ์ที่สำคัญของกลุ่มเจนนี้ คือความคิดอิสระ ไม่ชอบการขีดกรอบให้เลือก เพราะเชื่อว่าทางเลือกในโลกเป็นไปได้หลากหลายและไม่ควรถูกกำหนดด้วยกรอบเดิมๆ สิ่งนี้มีผลต่อองค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหันกลับมาทบทวนนโยบาย แนวปฏิบัติที่ใช้มาแต่เดิมว่าทันสมัยและรองรับกับมโนคติและแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมได้หรือไม่
เรื่องที่ 4 คือเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในระดับ ดิสรับชั่น นั้น เกิดบ่อยและถึ่กว่ายุคก่อนมาก ในอดีต การเปลี่ยนผ่านจากยคเครื่องจักรไอน้ำ ยุคไฟฟ้า มาสู่ยุคดอทคอม จะมีช่วงเวลาระหว่างแต่ละช่วงค่อนข้างนานเป็นทศวรรษ หลังยุคดอทคอม เราได้เห็นธุรกิจในกลุ่ม Tech และ Platform เติบโตขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยมูลค่าบริษัทที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่ในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ เราเริ่มเห็นข่าวองค์กรในกลุ่มนี้ เช่น อเมซอน ไมโครซอฟท์ เซลส์ฟอร์ซ เฟซบุก ต่างออกนโยบายในการลดพนักงานจำนวนมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นปัญหาจากผลประกอบการที่แย่ลงอันเป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา แต่หลายแห่งก็เลย์ออฟด้วยเหตุผลการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยการนำเครื่องจัก หรือ AI มาใช้ หรือไม่ก็เป็นการลดเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเทรนด์ที่จะเข้ามาในอนาคต มุมที่น่าสนใจอันเนื่องจากข่าวเหล่านี้ก็คือ ในช่วงก่อนหน้านี้ Gig Worker เป็นกระแสขาขึ้นที่นักวิชาการ และนักธุรกิจต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จำนวน Gig Worker จะขยายตัวและมีสัดส่วนแซงหน้าพนักงานประจำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ชั่วข้ามคืน Gig worker ต่างเปลี่ยนความคิด เริ่มแสวงหาความมั่นคงเพราะมีบทเรียนจากโควิด จึงพยายามหางานประจำที่มีรายได้แน่นอนทำ แต่พอได้เข้าไปทำงานกับองค์กรเหล่านี้ได้ไม่นาน ก็ถูกเลย์ออฟอีกแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายๆ คนปรับตัวไม่ทัน กระทบจิตใจ และกระทบครอบครัวเป็นทอดๆ
เรื่องที่ 5 น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ฟังที่เป็น HR เพราะหลายองค์กรต่างตื่นเต้นกับแนวคิดใหม่ๆ ในการบริหารคนจากบริษัท Tech ที่ประสบความสำเร็จ เช่น OKR, Desk-less office, นวัตกรรมการจัดสถานที่ทำงานและสวัสดิการแปลกใหม่ ฯลฯ หลายคนอาจไม่ทราบว่า Google ได้ออกแนวปฏิบัติการประเมินผลงานใหม่ซึ่งมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนไปจากแนวคิดที่ใช้ในช่วงที่ผ่านมาอยู่มาก เช่น การเข้มงวดกับการประเมินผลสุดท้ายมากขึ้น โดยกำหนดว่าอาจจะมีคนอยู่ในกลุ่มที่ต้องทำ performance improvement มากถึง 6% จากเดิมที่ปล่อยให้อิสระ ฟังดูก็คล้ายๆ กับ การกำหนดโควต้าของ Force Ranking ที่หลายองค์กรมีความพยายามที่จะเลิกใช้ เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางที่ไม่สร้างสรร ทำลายจิตนาการ และ ความคิดเชิงนวัตกรรมใหม่ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหารกูเกิลที่อเมริการะบุว่า สิ่งแวดล้อมที่จัดให้เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์อิสระ สะดวกสบายสำหรับพนักงานในกลุ่ม Tech จะถูกลดทอนลงเพื่อควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ในเดือนที่ผ่านมา ซีอีโอกูเกิ้ลได้ตอกย้ำประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง โดยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ในปี 2023 นี้การโปรโมทพนักงานสู่ตำแหน่งหัวหน้างาน จะมีโควต้าที่ 2% ซึ่งต่างจากเดิมที่พิจารณาตามผลงานและความพร้อมอย่างแท้จริง
บทเรียนสำหรับ HR ในเรื่องนี้ก็คือ การทำงานในปัจจุบัน แต่ละองค์กรอาจจะต้องคิดและกำหนดแนวทางที่เหมาะสมตามบริบทและความต้องการขององค์กรตนเอง เพราะ best practice หรือ benchmark ที่ประสบความสำเร็จ ณ ที่หนึ่ง หรือ ในช่วงเวลาหนึ่ง อาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมกับเรา หรือ เหมาะสมกับ ณ ช่วงเวลาในปัจจุบันได้
เรื่องที่ 6 เป็นข่าวการให้สัมภาษณ์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเยล ที่แสดงความเห็นว่า การขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ขัดขวางความก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ และสร้างภาระทางสังคมที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น ทางออกที่น่าจะช่วยได้คือ การยอมฆ่าตัวตายหมู่พร้อมกัน แม้ภายหลัก อาจารย์ท่านนี้จะบอกว่าไม่ได้มีเจตนาจะเสนอให้ทำเช่นนั้นจริง แต่เป็นการพูดเชิงเปรียบเทียบมากว่า
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ได้สะท้อนถึงโลกใหม่ที่ ความคิดของคนในสังคมจะแยกออกเป็นสองขั้ว polarizeก society อย่างเด่นชัดและรุนแรงมากขึ้น อันจะทำให้สังคม รวมถึงสิ่งที่เกิดในองค์กร มีความเปราะบาง และ เกิดความแตกแยกได้ง่าย
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น กำลังเป็นปัญหาของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น การประท้วงครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส อันเนื่องจากการที่รัฐบาลได้ขยายอายุเกษียณจาก 62 เป็น 64 ปี และส่อเค้าว่าจะกลายเป็นความรุนแรงที่ยืดเยื้อ ประเด็นผู้สูงอายุเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทยเช่นกัน ไทยอาจแตกต่างจากสังคมผู้สูงอายุอื่นๆ เพราะเราแก่ในขณะที่ยังไม่รวย ซึ่งเรื่องนี้จะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบในหลากหลายมิติเพิ่มมากขึ้นทุกที
เรื่องสุดท้ายที่ทัสนำมาเล่าให้ฟัง เกิดเมื่อไม่กี่วันมานี้ โดยมีข่าวว่า แอปเปิล มีนโยบายที่จะจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกค้าผู้มีเงินอยู้ในบัญชีแอปเปิ้ล ซึ่งแม้ทางแอปเปิ้ลเองจะระบุว่า เรื่องนี้ทำเพื่อสนับสนุนระบบนิเวศน์ทางการเงิน (Financial Ecosystem) ของบริษัท ไม่ได้มีความตั้งใจจะดิสรัพท์สถาบันการเงิน แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการดิสรัพท์สถาบันการเงินในอนาคตอันใกล้
สิ่งที่เกิดขึ้นคือตัวอย่างล่าสุดที่เตือนพวกเราว่า ไม่มีธุรกิจใดในโลกที่อยู่รอดปลอดภัย เพราะเราทุกคนจะถูกดิสรัพท์ได้ทั้งนั้น และผู้ที่ดิสรัพท์เป็นทั้ง Established company ที่อยู่ในธุรกิจเรา หรือธุรกิจอื่น และ จาก Start up ที่มีความชำนาญในธุรกิจเรา หรือในธุรกิจอื่น ดังนั้น องค์กรจึงควรเตรียมสร้างขีดความสามารถเพื่อให้พร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา
คุณลักษณะ 8 อย่างของโลกใหม่
- รูปแบบความไว้เนื้อเชื่อใจจะเปลี่ยนไป แหล่งข้อมุลที่มีอิทธิพลกับความเชื่อเปลี่ยนรูปไปจากเดิม ซึ่งคนเคยให้ความเชื่อถือแหล่งข่าวทางการ เช่นสำนักข่าว หน่วยงานราชการ แต่ปัจจุบันคนจะเชื่อ micro influencer หรือ Key opinion leader มากกว่า
- ทุกสิ่งที่ทำจะถูกรวบรวมและวิเคราะห์ได้ทั้งสิ้น คนในโลกใหม่อยู่กับเทคโนโลยีที่ทำให้ ทุกความเคลื่อนไหวล้วนสร้างร่องร่อย (digital foot print) ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ ตัวอย่างเทคโนโลยีที่มีราคาถูกแต่มีประสิทธิภาพได้แก่ Mobile, Sensor, Analytic อันเป็นหัวใจสำคัญ ที่องค์กรต่างๆ ใช้เพื่อประสบการณ์เฉพาะตัว (personalized experience) ให้กับลูกค้า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ ข้อมูลที่ไม่ได้มีการจัดให้อยู่ในรูป แถวและสดมภ์อย่างข้อมูลในโปรแกรม excel หรือที่เรียกว่าข้อมูลแบบไม่มีโครงสร้าง unstructured data สามารถทำได้รวดเร็วและสะดวกขึ้น
- โลกที่มากกว่าหนึ่งใบ ในวันนึง อุปกรณ์ที่ใส่ (wearable) เพื่อเชื่อมโลกอาจเป็นอุปกรณ์หลักของขีวิต เพราะทุกคนจะมีชีวิตทั้งในโลกกายภาพและโลกเสมือนตลอดเวลา ครั้งหนึ่งเราเคยฮือฮากับการจับโปเกมอนในสถานที่ต่างๆ อันนั้นคือ Augment reality รุ่นแรกที่นำมาใช้กับ gamification คือการ augment โลกปัจจุบันกับโลกเสมือน ในอนาคตเราไม่รู้หรอกอยู่ในโลกไหน อยู่ในโลกจริงหรือโลกเสมือน อย่าคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไกลตัว เพราะพนักงานต่างคุ้นเคยและใช้สิ่งเหล่านี้ผ่านการบริโภคสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันกันอยุ่แล้ว ซึ่งในที่สุดพนักงานก็จะคาดหวังว่าองค์กรจะนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในองค์กรบ้างเช่นกัน สิ่งเดิมที่พนักงานเคยพอใจ เพราะผล engagement survey ก็สูงมาโดยตลอด แต่มาในปีนี้ พนักงานไม่พอใจเรื่องเดิม นั่นเป็นเพราะว่าความต้องการของพนักงานได้เปลี่ยนแปลงไป
- เจตจำนงที่สอดคล้องกัน เงิน ค่าตอบแทนจะไม่ใช่ปัจจัยอย่างเดียวที่ดึงดูดและรักษาพนักงานไว้ได้ เพราะชีวิตไม่ได้แบ่งเป็น งาน และ ส่วนตัว ที่เราสร้างสมดุลย์แบบแยกส่วนกันได้ แต่ ทั้งสองเรื่องผสมผสานเชื่อมโยงกันจนแยกไม่ออก โลกปัจจุบันจึงเปลี่ยนจาก work-life balance มาเป็น work-life integration เราคาดหวังว่าเจตจำนงของบริษัทที่เราทำงานด้วยจะสอดคล้องกับเจตจำนง และความหมายในชิวิตของเรา ปัจจุบันไม่ใช่แค่ไปใช้ชีวิตในองค์กรแล้วกลับบ้าน แล้วมีโลกส่วนตัว เขาต้องการให้โลกในชีวิตกับโลกในองค์กรเป็นโลกเดียวกัน ถ้าไปทำงานในองค์กรที่ขัดกับความเชื่อ จะมีความรู้สึกไม่สบายใจ อันนี้คือโลกใหม่ที่เราเจอ
- โลกที่เชื่อมต่อ และเป็นปัจจุบันตลอดเวลา เรากำลังพูดถึงประสิทธิภาพในการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต จริงๆ มันไม่ใช่แค่ให้เราสามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น เพราะในทางทฤษฎี 5G จะมีส่วนลดช่องว่างของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ธุรกิจ ความสะดวกสบาย ฯลฯ คนที่อยู่ต่างจังหวัดไม่ว่าที่ไหนก็ สามารถเข้าถึงการศึกษา สามารถใช้จ่าย สามารถสร้างตลาดโอทอปในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในเมืองหรือกรุงเทพฯ การเกิดขึ้นของ 5G และ web 3.0 มีส่วนสำคัญที่จะยกระดับ HR ให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือก สรรหา อบรม สร้างความผูกพัน และอื่นๆ ในทุกมิติ
- โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน ยิ่งเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้นสิ่งที่เกิดในชีวิตจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของประเทศไทยอาจไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ในทางทฤษฎีเพราะสังคมยังมีความไม่เท่าเทียกันทั้งทางด้านเศรษกิจ การศึกษา เครือข่าย สถานะทางสังคม ดังนั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโยลีอาจส่งผลต่อความสงบ และ เสถียรภาพของประเทศได้ เพราะ ความไม่เท่าเทียมจะถูกถ่างให้กว้างมากขึ้น
- ความคิดที่ถูกแบ่งเป็นสองขั้ว โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้สังคมมีความเปราะบางและมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงและเผชิญหน้าได้ทุกขณะ
- การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและถี่มากขึ้น ในโลกปัจจุบัน การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิด (black swan) จะอุบัติถึ่ขึ้น และในแต่ละครั้งจะส่งผลกระทบที่คาดเดาได้ยากอย่างรุนแรง
รู้จักที่จะใช้ประโยชน์ของการเชื่อมโยงและ การเชื่อมต่อในของโลกใหม่
ทัส เริ่มต้นอธิบายความหมายของ Theme งาน Thailand HR Tech จากความหมายที่ได้บัญญัติไว้โดยทั่วไป
Augment คือการนำสองสิ่งมาเชื่อมต่อหรือใช้ร่วมกันเพื่อสร้างผลกระทบที่มากกว่าการใช้สิ่งนั้นเพียงลำพัง
ในนัยที่เรามักเข้าใจกัน ก็คือ การเชื่อมโยงระหว่าง คนกับเครื่องจักร แต่ในความคิดของทัส มองว่า การเชื่อมต่อในโลกปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ เช่น
คน (human) กับ เครื่องจักร (machine) จะสร้าง แรงงานที่มีฉลาด มีขีดความสามารถสูง (Smart workforce)
สถานที่กายภาพ (physical) กับ โลกเสมือน (virtual) จะสร้างสถานที่ทำงานที่ผสมผสาน (hybrid workplace)
ข้อมุลอดีต (historical data) กับ การพยากรณ์ในอนาคต (predictive model) จะยกระดับการตัดสินใจให้อยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์ข้อมูล (data-driven decision making)
หรือแม้แต่ การเชื่อมโยง โลกในที่ทำงาน ( Work) และ โลกส่วนตัว (Life) จะทำให้เกิดการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวม (Holistic well-being) เป็นต้น
การเชื่อมต่อที่เหมาะสมจะมีส่วนในการยกระดับขีดความสามารถขององค์กรและส่งเสริมให้พนักงานบรรลุเจตจำนงของขีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Connect คือ การเชื่อมโยง การเข้าถึง
โดยทั่วไปมักจะนึกถึงการติดต่อ ปฏิสัมพันธ์ของ คนในหลายๆ รูปแบบ เช่น 1 to 1, 1 to Many หรือ Many to Many แต่ในความคิดของทัส การเชื่อมต่อนั้นยังรวมถึง การเชื่อมโยงระหว่าง คนในองค์กรทุกส่วน (across organization silo) และ การเชื่อมโยง บุคลากรในองค์กร กับผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กร ซึ่งในสมัยใหม่ เราจะเรียกรวมเป็น ระบบนิเวศน์ (Business ecosystem)
การเชื่อมโยงที่เหมาะสมจะมีส่วนในการสร้างพลังจากความร่วมมือ (collaboration) ซึ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่เคยเป็นไปได้ในอดีต เพราะความเชื่อมโยงมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการพลิกขั้วของอำนาจการต่อรองของกลุ่มต่างๆ ที่เคยมีความสัมพันธ์แบบ ผู้นำและผู้ตามให้มีขั้วอำนาจที่กลับข้าง เช่นครู-นักเรียน, หัวหน้างาน-ลูกน้อง, นายจ้าง-ลูกจ้าง, รัฐ-ประชาชน, หมอ- คนไข้ เป็นต้น
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคือจุดกำเนิดของการเปลี่ยนแปลงทุกสรรสิ่ง
ทฤษฎีของมัวร์ที่ อธิบายถึง ปริมาณของทรานซิสเตอร์บนวงจรรวม ซึ่งจะเพิ่มเป็นเท่าตัวทุก ๆ สองปี สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีอัตราทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ คุณลักษณะเฉพาะตัวของเทคโนโลยี คือการนำเทคโนโลยีหลายสิ่งมาใช้ร่วมกัน ทำให้เกิดความสามารถใหม่ที่มากกว่าตัวมันเอง (combinatorial effect) และที่สำคัญ ยิ่งเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่าใด จะมีราคาถูกลงมากขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างโทรศัพท์มือถือสเปคเดียวกัน ซึ่งเราซื้อได้ในราคา 3 พันบาท แต่เราอาจต้องจ่าย 3 หมื่นบาทเมื่อสามปีก่อนเป็นต้น
ข้อมูล และ เครือข่ายทางสังคมคือผลแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
สิ่งที่เป็นผลต่อเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็คือ การเพิ่มจำนวนและการบริโภคข้อมูลที่มีอัตราเร่งทวีคูณ ซึ่งไอบีเอ็มเคยเสนอผลวิจัยพบว่า สมัยก่อนปี 1800 เราต้องใช้เวลา 400 ปีถึงจะอัพความรู้เพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่ปัจจุบัน เวลาแค่ 12 ชั่วโมง ก็สามารถเพิ่มปริมาณข้อมูลข่าวสารเป็นเท่าตัว ปัญหาคือ เรารู้ไหมว่าข้อมูลอันไหนมันไม่จริง ถ้าเอาข้อมูล fake ไปทำงาน ไปทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างก็จะสร้างปัญหาเรื่องจริยธรรม นั่นคือเหรียญอีกด้านหนึ่งของข้อมูลที่เราควรทราบ
เทคโนโลยีก้าวหน้ารวดเร็วในหลายเรื่อง อย่างทวิตเตอร์เคยใช้ได้แค่ 140 ตัวอักษร ส่งข้อความได้อย่างเดียว แต่วันนี้ใช้ได้ทุกรูปแบบ คลิปวิดีโอปี 2020 มีความละเอียดต่ำมาก ปัจจุบันคลิปวิดีโอสามารถแชร์ได้ แต่งแอนิเมชั่นได้ ตัดต่อได้ คนใช้เทคโนโลยีง่ายขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เราต้องรู้ว่าเทคโนโลยีอะไรที่เหมาะกับเรา ความก้าวหน้าเหล่านี้ได้สร้างให้เกิดการรวมตัวและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารผ่านเครือข่ายทางสังคมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและทรงพลัง อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการบริโภคและการใช้เครือข่ายทางสังคมก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จากความนิยมของเครือข่ายทางสังคมทีเคยเป็นที่ชื่นขอบในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก เสื่อมความนิยมลง และมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นมารองรับอย่างต่อเนื่อง
เรื่องนี้มีความสำคัญกับการทำงานของ HR เช่น เวลาเราจะทำแอปให้พนักงานใช้ กว่าจะคิดจะทำ อาจให้เวลานาน พฤติกรรมของคนในการใช้แอปจะเปลี่ยนไป แต่ก่อนคนใช้เฟซบุก แต่ตอนนี้อัตราการใช้เฟซบุกตกลงและติ๊กตอกได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ ถ้าคิดจะทำหลักสูตรผ่านติ๊กต๊อก อาจไม่ทันแล้วก็ได้ เพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปเร็ว ดังนั้นเวลาคิดทำอะไร อย่าไปตามกระแส ต้องรู้ก่อนว่าอะไรเหมาะกับเรา
การปรับโครงสร้างทางด้านประชากรศาสตร์ ระบบนิเวศน์ที่เสื่อมโทรมคือปัจจัยร่วม และมีโควิดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง
นอกเหนือจากเทคโนโลยี ข้อมูล และเกิดของเครือข่ายทางสังคม ปัจจัยที่มีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงอีกสองอย่างคือ การปรับเปลี่ยนทางด้านประชากรศาสตร์ในทุกมิติ เช่น อายุ ทัศนคติ ความหลากหลาย ร่วมกับความรุนแรงของภัยธรรมชาติอันเกิดจากปัญหาที่สะสมของระบบนิเวศน์ที่มีความเสื่อมโทรมมากขึ้น จนส่งผลต่อธุรกิจเฉพาะอย่างยิ่งความท้าทายในการบริหาร ห่วงโซ่อุปทาน เพราะฉะนั้นการพูดถึงโลกร้อน จึงไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็น SD, CSR หรือ ESG แต่บริษัทจำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ทั้งหมดที่กล่าวมาถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโควิดทั่วโลกที่ทำให้พฤติกรรมมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างโดยเฉพาะการเปิดรับดิจิทัลเทคโนโลยีเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ 5-7 ปี
คนในทุกเจนต่างพร้อมจะปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
อย่ากังวลว่าคนอายุ 50-60 ปีที่ทำงานอยู่ในองค์กรตามเทคโนโลยีไม่ทัน เพราะทุกคนทราบดีว่าจะต้องปรับตัวให้อยู่ใน ecosystem ให้ได้ ทุกเจนไม่ว่าจะเป็น BB, X, Y, Z ต่างปรับตัว แต่อาจจะมีสปีดในการรับไม่เท่ากัน เช่น BB อาจจะเริ่มนิยมใช้ แทปแลท ในขณะที่ เจน X,Y, Z ใช้น้อยลงเพราะทำทุกอย่างทางสมาร์ทโฟน หรือ BB, X, Y อาจสื่อสารผ่านไลน์ แต่คนรุ่นใหม่คุ้นกับช่องทางอื่น เช่น discord เป็นต้น
เทคโนโลยีนำมาซื่งโอกาส และความเสียง
ธุรกิจแพลทฟอร์มอย่าง Airbnb อาจไม่เป็นที่นิยมเมื่อไม่นานมานี้ แต่ทัศคติที่เปลี่ยนไปทำให้การยอมรับเกิดจากจุดเล็กและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่ง Airbnb เป็นอีกตัวอย่างของการปรับตัวเพื่ออยู่รอดที่ดีที่สุด เพราะธุรกิจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี แต่ก็ถูกผลกระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของ Covid 19 แต่ด้วยการให้ความสำคัญในการสร้างขีดความสามารถให้กับองค์กรทำให้ Airbnb สามารถผ่านพ้นวิกฤติและเติบโตได้แข็งแกร่งกว่าเดิม เพราะฉะนั้นเทคโนโลยี ทำให้เกิดโอกาส แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความเสี่ยง บางธุรกิจที่เราเคยรู้จักดีในอดีตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน เช่นฟิลิปส์ที่เกิดและเติบโตจากกิจการด้านหลอดไฟ แต่ในปัจจุบันไม่สินค้าใดๆ เกี่ยวกับหลอดไฟเหลือ เพราะขายธุรกิจเหล่านั้นออกไปทั้งหมด และหันไปโฟกัสที่ธุรกิจทางการแพทย์ แม้ธุรกิจไม่อยากโต อยากอยู่แบบนี้ แต่ก็จะถูก disrupt ได้จากธุรกิจสตาร์ทอัพที่ไม่ได้มีประสบการณ์มาก่อน หรือบริษัทที่ตั้งมานาน อาจถูกคู่ค้า disrupt ก็ได้ เพราะวันนี้การถูก disrupt มาจากทุกทิศทุกทาง
ระดับในการรับเทคโนโลยีมีความแตกต่างกันส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน
ทัสได้ใช้แนวคิดของ Deliotte เพื่ออธิบายประเด็นความท้าทายในปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวพูดถึง ขีดความสามารถในการรับเทคโนโลยีของแต่ละกลุ่มซึ่งมีระดับที่แตกต่างกัน โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีมีการพัฒนาก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา กลุ่มปัจเจกชน หรือคนทั่วไปจะจับเทรนด์เทคโนโลยี พร้อมเปิดรับและปรับตัวได้ด้วยความเร็วอันดับ 2 แต่ไม่ใช่ทุกคน หากคนที่เข้าถึงได้เร็ว แต่มีเจตนาไม่ดีก็จะกลายเป็นปัญหา อาชญากรรมทางดิจิทัล เช่น แก็งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพบัตรเครดิต มีคนที่ฉวยโอกาส ภาคธุรกิจ จะปรับตัวได้เร็วเป็นอันดับสาม เพราะจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันกับความคิดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อจะสามารถพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงความต้องการ ภาคส่วนที่ช้าที่สุดคือภาครัฐ ตรงนี้คือปัญหา การที่ภาครัฐปรับตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น ทำให้กลุ่มคนที่ไม่สามารปรับตัวได้ ไม่มีเครื่องช่วยป้องกันความเสี่ยงหรือภัยจากเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
แนวคิดนี้มีความสำคัญต่อการทำงานของ HR “สิ่งพวกนี้ทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน ถ้าพนักงานเข้าถึงเทคโนโลยี และบริษัทยังไม่ได้เข้าถึง อาจทำให้พนักงานที่มีทางเลือกมากขึ้น ลาออกจากองค์กรไป หรือการบูลลี่กันจากในอดีตที่เคยทำได้ แต่ปัจจุบันทำไม่ได้แล้ว ต้องมาดูว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยน พฤติกรรมคนเป็นอย่างไร และทำให้การทำงานของ HR ต้องปรับอะไรบ้าง”
วิเคราะห์ให้พบสาเหตุที่แท้จริง อย่าด่วนสรุป เพื่อจะรับมือได้ถูกต้อง
เราไม่ควรด่วนสรุปว่า องค์กรไม่รอดเพราะ ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลได้ เพราะความเป็นจริงคือเราไม่เข้าใจผู้บริโภคมากกว่า การทำงานของ HR มักมุ่งเน้นไปที่การนำสิ่งใหม่ๆ มา หรือ การปรับสิ่งแวดล้อมการทำงานให้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ อันเป็นเพราะเราไม่เข้าใจพนักงานอย่างเท้จริง นั่นจึง เป็นที่มาของแนวคิด design thinking ยกตัวอย่างกรณีโกดัก สิ่งที่เกิดไม่ใช่โกดักไม่สามารถปรับตัวสามารถผลิตนวัตกรรมกล้องดิจิทัลได้ เพราะ โกดักผลิตกล้องดิจิทัลได้ก่อนคนอื่น แต่มีปัญหาคือไม่สามารถเอาความคิดดีๆ ออกมาสร้างให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ โกดักไม่เข้าใจผู้บริโภคว่า การถ่ายภาพเป็นกิจกรรมที่ใครๆ ก็ทำได้ทุกเวลาสนุกสนาน เป็น hobby ไม่ต้องเป็นมืออาชีพ โกดักจับเทรนด์ไม่ได้หรือไม่พยายามเข้าใจเทรนด์ ซึ่งในที่สุดก็สร้างความเสียหายอยางใหญ่หลวงให้กับบริษัทในเวลาต่อมา การทำงาน HR ก็เช่นกัน ก่อนการลงมือแก้ปัญหาควรมีการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และ พิจารณา scenario ต่างๆ ให้รอบด้าน
ความสำเร็จในอดีตอาจใช้แก้ปัญหาในปัจจุบันไม่ได้
ทัส พาเราสำรวจโลกที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่สิ่งที่ไกลตัวเข้ามาถึงเรื่องใกล้ตัว ตั้งแต่เรื่องการทำงาน มาจนถึงการใช้ชีวิต และนำเรามาสู่บทสรุป ของการเสวนา เขากล่าวว่า เราทุกคนต้องยอมรับว่าโลกวันนี้ไม่เหมือนเดิม ซึ่งเราสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในสองแกน
แกนที่หนึ่งคือ ความรุนแรงและความถึ่ของการเปลี่ยนแปลง เรามักพูดถึง VUCA , BANI เสมอเมื่ออธิบายแกนนี้
แกนที่สองคือ ความเห็นพ้องของคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม โซเชี่ยลเนตเวิร์ก มีอิทธิพลอย่างมากในเรื่องนี้
หากความเปลี่ยนแปลงต่ำ ความเห็นพ้องสูง เป็นสถานการณ์ที่ง่ายต่อการรับมือ เราใช้ best practice benchmark และชุดทักษะเดิมที่เราเคยใช้แก้ปัญหาเหล่านี้ได้
ในสถานการณ์ที่ ความเปลี่ยนแปลงต่ำ ความเห็นพ้องต่ำ เป็นสถานการณ์ที่ Complicate การแก้ปัญหาจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากเพื่อสร้างการยอมรับ
ในสถานการณ์ที่ ความเปลี่ยนแปลงสูง แม้ความเห็นพ้องสูง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับมือ เพราะเป็นสถานการณ์ที่ Complicate เช่นกัน การแก้ปัญหาจำเป็นต้องวิเคราะห์ scenario หลายรูปแบบเพื่อรับมือกับความผันผวน
และในสถานการณ์ที่ท้าทายที่สุดคือ สถานการที่ ความเปลี่ยนแปลงสูง แม้ความเห็นพ้องต่ำ สถานการณ์ในลักษณะนี้มีความซับซ้อน เป็นสถานการณ์ที่ Complex ซึ่งไม่เคยเจอมาก่อน ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการคิดและการทำในรูปแบบใหม่
เทคโนโลยีจะทำให้เกิด super job ไม่ใช่แทนที่งาน
งานในโลกใหม่จะแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ
- งานที่ถูกแทนที่ด้วย AI หรือ เครื่องจักร
- งานที่คนทำงานร่วมกับ AI หรือเครื่องจักรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพดีขึ้น เช่นตำแหน่ง prompt engineer ที่เป็นผลจาก ChatGPT
- งานที่สร้างใหม่ อันเป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของ AI งานตรวจสอบวิทยานิพนธ์ว่าเขียนด้วย AI หรือไม่
- งานที่ไม่สามารถแทนที่ได้ด้วย AI เช่น งานใช้ความคิดสร้างสรรค์
อานุภาพของเทคโนโลยีนั้นมีมากกว่า แค่การนำมาใช้เพื่อทดแทนคน เพื่อเป็น substitution แต่เทคโนโลยีควรช่วยให้คนทำงานได้ดีขึ้น ทำให้เกิด super job และทำให้ทีมหรือองค์กรมีประสิทธิภาพดีขึ้น ที่เรียกว่าเป็น Super Team และหากองค์กรใดสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างให้เกิดพลังจากความร่วมมือ Super collaboration และการประสานเจตจำนงของคนและองค์กรให้สอดคล้องกันได้ จนเกิดเป็น super purposeful organization สิ่งนี้คืออานุภาพที่สูงสุดของเทคโนโลยีที่องค์กรและ HR ควรใช้เป็นหลักในยกระดับการทำงานและสร้างการเปลี่ยนแปลง
ขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน ที่อ่าน บทความความยาวกว่า 5000 คำ ซึ่งทีม PMAT ถอดความมาจากการบอกเล่าถึงโลกที่เปลี่ยนไป โดย Tas Chantree เป็นอีกหนึ่งบทความที่เราที่ไม่อยากตัดทอนให้สั้นลงเพราะทุกข้อความให้ข้อมูลที่มีคุณค่า ชวนให้นำไปคิดต่อยอด หากคุณต้องการรับฟัง HR Tech Talk Special ในประเด็น HR in augmented and connected world คุณสามารถชมได้ผ่าน PMAT Official Facebook และหากคุณต้องการฟังการบรรยายและเสวนากับ Tas Chantree มาพบกันได้ที่ งาน #ThailandHRTech2023 Everything Everywhere Augmented 14-15 มิถุนายน 2566 ที่ Royal Paragon Hall
___________________
#ThailandHRTech2023
Everything Everywhere Augmented
14-15 June 2023 @ Royal Paragon Hall
ข้อมูลเพิ่มเติม https://hrtech.pmat.or.th
ลงทะเบียนเข้างานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย hrtech2023
#PMAT #HRTECH #EverythingEverywhereAugmented